
ไฟไหม้ นับว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งกับบ้านเราเองและบ้านข้างเคียง การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์จริงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างไรก็ตามถังดับเพลิงมักเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไม่ยอมซื้อติดบ้านไว้ เพราะคิดว่าสิ้นเปลือง แถมคงไม่ค่อยได้ใช้ แต่ที่จริงแล้วการมีถังดับเพลิงไว้ที่บ้านก็ช่วยให้เราอุ่นใจในการใช้ชีวิตขึ้นเยอะ แม้ไฟไหม้บ้านจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนหลายคนเผลอละเลยที่จะตรวจสอบถังดับเพลิงให้ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ เมื่อต้องใช้งานจริง ถังดับเพลิงกลับฉีดไม่ออกขึ้นมาซะดื้อๆ ก็คงจะเป็นอะไรที่พลาดเอามากๆ
วันนี้ มีความรู้ที่เป็นประโยชน์มาฝากกันกับ “การเลือกและการตรวจสอบสภาพถังดับเพลิง” ต่อไปจะได้รู้จักใช้และสามารถตรวจสอบสภาพของถังดับเพลิงเองได้ สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้งานจริงจะต้องมีสติและสามารถดับเพลิงได้เร็วและถูกต้องตามหลักการ ลองใช้เวลาอ่านกันสักหน่อยเพื่อความปลอดภัยของท่านและครอบครัว
ประเภทของเพลิง

- Class A (Ordinary Combustibles) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากวัสดุติดไฟปกติ เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ยาง และ พลาสติก
- Class B (Flammable Liquids) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากของเหลวติดไฟ เช่น น้ำมัน จารบี น้ำมันผสมสี
- Class C (Electrical Equipment) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร
- Class D (Combustible Metals) เป็นเพลิงที่เกิดขึ้นจากโลหะที่ติดไฟได้ เช่น แม๊กนีเซียม ซินโครเมี่ยม โซเดี่ยม ลิเซี่ยม และ โปแตสเซียม
- Class K (Combustible Cooking) เป็นเพลิงที่เกิดจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้งานการทำอาหารที่มีการใช้ไขมันจากพืชหรือสัตว์
ประเภทของถังดับเพลิง
- ผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Powder) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้ผงโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือผงโพแทสเซียมไบคาร์บอเนต และมีสารกันชื้นผสมอยู่ด้วย ข้อดีคือใช้ได้ทั่วไป ราคาถูก ข้อเสียคือใช้แล้วสารจะฟุ้งกระจาย ทำให้สกปรก ใช้แล้วต้องส่งบรรจุใหม่ สามารถใช้ดับเพลิงประเภท A,B,C
- ฮาโลตรอน (Halotron) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้สารเหลวระเหย ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย สะอาด ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังใช้ มีอายุการใช้งานนาน เหมาะกับการรักษาทรัพย์สินในห้องคอมพิวเตอร์ สามารถใช้ดับเพลิงประเภท A,B,C
- เคมีสูตรน้ำ (Water Chemical) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้น้ำยาที่เรียกว่า ABFFC สามารถใช้ดับเพลิงได้ทุกประเภท หรือตั้งแต่ A,B,C,D,K ทำให้มีราคาสูง เหมาะในการวางไว้ใกล้ครัว
- คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ไปลดก๊าซออกซิเจนลงเพื่อให้ไฟดับ ใช้แล้วไม่เหลือกากหรือคราบสกปรกไว้ แต่ไม่เหมาะกับการใช้ในที่ลมแรง โดยควรอพยพคนก่อนใช้ เนื่องจากคนจะหายใจไม่ออกเพราะขาดออกซิเจน ใช้ดับเพลิงประเภท B, C
- โฟม (FOAM) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้น้ำผสมโฟมเข้มข้น โดยโฟมจะปกคลุมบริเวณผิวหน้าของเชื้อเพลง ช่วยลดปริมาณออกซิเจนและทำให้เพลิงไม่ลุกลาม สามารถใช้ดับเพลิงประเภท A, B อนึ่งห้ามนำไปดับเพลิงประเภท C เพราะมีน้ำเป็นส่วนผสม ซึ่งเป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เหมาะกับห้องที่มีการเก็บเชื้อเพลิงประเภททินเนอร์ น้ำมัน ยางมะตอย
- น้ำสะสมแรงดัน (Water Pressure) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้น้ำเป็นตัวดับเพลิง ใช้ดับเพลิงประเภท A อนึ่งห้ามนำไปดับเพลิงประเภท C เพราะมีน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เหมาะนำไปวางไว้ในห้องที่มีเชื้อเพลงประเภทกระดาษ โรงงานเสื้อผ้า
การตรวจสอบถังดับเพลิง (ชนิดมีเกจวัดแรงดัน)
- ตรวจสายฉีดว่ามีการแตกหรือชำรุด พร้อมตรวจดูว่ามีการอุดตันของสายฉีดหรือไม่
- ตรวจสอบสลักล็อคคันโยกว่ายังมีซีลอยู่หรือไม่หรือไม่ และมีการบิดเบี้ยวหรือไม่
- ตรวจสอบสภาพภายนอกถังว่าเกิดสนิม ตัวถังบุบหรือมีรอยซึมของสารเคมีหรือไม่
- ถ้าเป็นถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ให้ยกถังขึ้นและคว่ำลง 2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ผงเคมีที่อยู่ด้านในแข็งตัว
- ถ้าเป็นถังดับเพลิงชนิด CO2 ให้ตรวจสอบโดยการชั่งน้ำหนัก หากมีน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% ให้ส่งกลับไปตรวจสอบ
- ตรวจสอบเกจวัดแรงดัน ถ้าเข็มอยู่ในพื้นที่สีเขียวบริเวณกึ่งกลางแสดงว่าพร้อมใช้งาน หากเข็มชี้ไปทางด้านซ้ายมือ แสดงว่าใช้งานไม่ได้
- ตรวจสอบบริเวณที่วางถังดับเพลิงต้องไม่มีอะไรกีดขวาง เข้าถึงง่าย และสังเกตเห็นได้ง่าย
- ถ้าถังดับเพลิงไม่ได้ใช้งานนาน 4-5 ปี ควรส่งถังดับเพลิงไปทดสอบกับบริษัทผู้ผลิตหรือส่งให้กับร้านที่ซื้อเป็นผู้ตรวจสอบ
- ถ้าไฟไหม้ หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ให้ส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่
- ตรวจสอบอายุการใช้งานของถังดับเพลิงซึ่งจะมีระบุไว้ข้างถัง ถ้าใกล้หมดอายุต้องเปลี่ยน
ที่สำคัญอย่าลืมอ่านฉลากบนถังดับเพลิงก่อนการใช้งานด้วยนะ จะได้ใช้งานให้ถูกวิธีและดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว